ประวัติวัด


วัดนางนอง

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 76 เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต

ทิศเหนือติดต่อกับคูเก่าของวัด

ทิศใต้ติดต่อกับคลองบางค้อ

ทิศตะวันออกติดต่อกับทางรถไฟ

ทิศตะวันตกติดต่อกับคลองด่าน

ประวัติ

วัดนางนอง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเขตบางขุนเทียน จะเห็นได้จากที่ตั้งวัด วัสดุการก่อสร้างวัด ปูชนียวัตถุ ล้วนแต่มีการก่อสร้างอย่างประณีตบรรจงเช่น พระอุโบสถ             พระวิหาร พระปรางค์ พระเจดีย์ ตลอดจนพระประธานทรงเครื่องในพระอุโบสถ                    วัดนางนองนี้ เดิมอยู่ริมคลองด่าน การสัญจรไปมาใช้เส้นทางคลองด่านเป็นหลัก               หน้าวัดจึงได้หันสู่คลอง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกมิได้หันไปทางทิศตะวันออก แต่ต่อมาเมื่อมีการตัดถนน การสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลง สภาพของก็เปลี่ยนไป ทางเข้าวัดได้เปลี่ยนมาเป็นทางด้านถนนวุฒากาศ

การก่อสร้างวัดนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างในสมัยใด สันนิษฐานจากรูปแบบของศิลปะที่พบในวัด ควรจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2375 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อของเก่าแล้วปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม ดังจะเห็นได้จากพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ศาลาหน้าวัดล้วนเป็นทรงเก๋งจีน พร้อมทั้งศิลปกรรมที่ปั้นลม หน้าบัน ประตู หน้าต่าง พระประธานในพระอุโบสถพร้อมทั้งลายฝาผนังลายรดน้ำ รูปทรงศิลปะไทยจีนประยุกต์ รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะวัดนางนองนี้ เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ชื่อว่า บางนางนอง             ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมรดาเรียม พระราชชนนีของท่าน ก่อนที่ตระกูลของสมเด็จพระศรีสุลาลัยจะข้ายข้ามคลองไปตั้งถิ่นฐานบริวณวัดหนัง ใช้เวลาปฏิสังขรณ์หลายปีจึงแล้วเสร็จได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถในวันที่ 19 พ.ย. 2385 วัดนางนองนี้เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่วัดหนึ่งหันไปทางทิศตะวันตกตามทางสัญจร             คือคลองด่านสิ่งปลูกสร้างแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส เขตพุทธวาสมีถาวรวัตถุ พระอุโบสถ พระวิหาร เจดีย์ทรงปรางค์ เจดีย์ทรงเครื่องโดยมีแผนผังตามแนวแกนหลักคือ พระอุโบสถเป็นประธานของวัด อยู่ด้านหลังสุด หน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ด้านซ้ายและขวาของเจดีย์มีวิการคู่ ส่วนของวิหาร ทั้งสองหลังยังมีเจดีย์ทรงปรางค์ตั้งอยู่ด้านหลังและมีกำแพงแก้วร้อมรอบ ลักษณะของผังแบบนี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของงานสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3

พระพุทธมหาจักรพรรดิ

พระประธานในพระอุโบสถ คือ พระพุทธรูปสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยพระนาม พระพุทธมหาจักรพรรดิพระพักตร์พุทธศิลป์อย่างสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร เครื่องทรงที่ประดับทุกชิ้นแยกออกจากองค์พระ สวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปั้นลายปิดทองประดับกระจก เป็นงานประติกมากรรมชิ้นเยี่ยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีความงามวิจิตรอลังการปลูกความเลื่อมใสศัทธาแก่ผู้เข้ามาสักการะ มีประวัติสำคัญคือได้มีการนำมงกุฎของพระพุทธรูปที่วัดนางนองไปประดิษฐานยังยอดของตรีศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามภายหลังจึงมีการสร้างถวายคืนให้ในรัชกาลของพระองค์

 
พระอุโบสถ

ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถ

งานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถมีหลายเรื่องอันประกอบด้วยที่ผนังพระอุโบสถส่วนบนเหนือกรอบหน้าต่างทุกด้าน เขียนเรื่อง ชมพูบดีศูตร เป็นงานเขียนสีลงบนฝาผนัง ระหว่างหน้าต่างเป็นงานเขียนบนรักอย่างจีนที่เรียกว่าลายกำมะลอ เรื่องสามก๊ก ระหว่างบานประตูเป็นภาพสำคัญคือ ฮก ลก ซิ่ว พร้อมทั้งเครื่องมงคล ตามรัชกาลที่ 3 ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง ในกรอบกระจำเป็นนิยายจีน จิตรกรรมประดับบานประตู หน้าต่าง และบานแผละ เป็นลายรดน้ำที่บานประตูเขียนเรื่องรามเกียรติ์ บานหน้าต่างเขียนภาพเทพในศาสนาฮินดูที่นำมาใช้เป็นงานประดับและทวารบาลอย่างไทย บานแผละเขียนเป็นภาพมงคลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เครื่องราชกุธภัณฑ์ คือ พระมหามงกุฎ ธารพระกร พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดวาลวีชนี พระแส้ และฉลองพระบาทเครื่องสูง ภาพเขียนภายในพระอุโบสถลบเลือนมากวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นพุทธประวัติตอนชมพูบดีสูตร คือตอนพระพุทธเจ้าทรมาณพระยามหาชมพูเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างานจิตรกรรมกับพระพุทธรูปที่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งหมายถึงปางทรมานพญามหาชมพู

 พระวิหารด้านเหนือ

เป็นสถาปัตยกรรมที่ไดัรับอิทธิพลมาจากจีนพระวิหารด้านขวา หรือวิหารหลังทิศเหนือ เรียกกันว่า"วิหารหลวงพ่อผุด" มีกำแพงแก้วล้อม ซุ้มประตูเป็นประตูโค้ง สมัยเมื่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 วัดนางนองวรวิหารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เฉพาะวิหารคู่ด้านเหนือ และใต้นั้น ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยของพระราชรัตนโสภณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันทั้งหมดได้มีการสันนิษฐานว่า พระวิหารหลังนี้น่าจะเป็นพระอุโบสถหลังเดิม ก่อนการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 3 พระประธานอุโบสถเดิมคือ องค์หลัง ชาวบ้านยุคหลังเรียกว่า "หลวงพ่อผาด" เพื่อคล้องกับหลวงพ่อผุด ส่วนหลวงพ่อผุด เป็นพระพุทธรูปหินทรายจมดินอยู่ เล่ากันว่า สายฟ้าลงบริเวณที่จม ดินจึงเกิดรอยแยกออก จึงมองเห็นพระพุทธรูปชาวบ้านจึงเรียกนามท่านว่าหลวงพ่อผุด ประดิษฐานอยู่หน้าหลวงพ่อผาด พระประธานองค์เดิม ลักษณะเป็นหินทรายลงรักปิดทอง

 
พระวิหารด้านใต้หรือศาลาการเปรียญ

พระวิหารด้านซ้าย หรือวิหารหลังทิศใต้ ประโยชน์ใช้สอยคือเป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุสงฆ์ สมัยโบราณเรียกว่า ศาลาการเปรียญ ปัจจุบันอาคารหลังนี้ยังคงเป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุในวัด จึงเรียกว่า ศาลาการเปรียญ ขนาดอาคารไล่เลี่ยกับวิหารหลวงพ่อผุด หน้าบันเป็นศิลปะจีนลายมังกรล่อแก้ว ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ และเก็บรักษาพระพุทธรูปยืนอีกจำนวนไม่น้อยพระวิหาร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว

 
ซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านหน้าศิลปกรรมแบบยุโรป

 พระเจดีย์ประธาน

พระเจดีย์ประธานของวัดนางนอง ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถรอบกำแพงแก้วอยู่ระหว่างกลางวิหารคู่ เรียกว่า "พระเจดีย์ประธานย่อมุมไม้ยี่สิบ" ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด พิจารณาจากทรวดทรงเจดีย์แล้วสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการบูรณะปฏิสังขรณ์ เพราะมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัดพระเชตุพน                  วิมลมังคลาราม ด้านหน้าองค์เจดีย์ที่หันลงสู่คลองด่านสร้างกุฎิประดิษฐานพระพุทธสาวก พระมหากัจจะยานะ

 พระปรางค์

วัดนางนองวรวิหารมีพระปรางค์คู่ ถ้ามองจากคลองด่าน ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด

พระปรางค์คู่นี้จะขนาบพระเจดีย์ประธานไม้ยี่สิบ เยื้องลงไปด้านหลังเล็กน้อย องค์แรกอยู่หลังวิหารหลวงพ่อผุดเป็นพระปรางค์ด้านเหนือ องค์ที่สองอยู่หลังวิหารศาลาการเปรียญ เป็นพระปรางค์ด้านใต้ ลักษณะทรงแปดเหลี่ยมอยู่บนฐานกลมยอดนภศูล

ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว  กำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและเป็นเขตพุทธาวาส ทำซุ้มประตูยอดโค้ง มีอิทธิพลจีนผสมฝรั่ง ทรวดทรงเตี้ยหากดูมั่นคง ช่องทางเข้าเป็นโค้งยอดแหลม

ศาลา ด้านนอกเขตกำแพงแก้ว มีศาลาริมน้ำซึ่งมีการซ่องแซมขึ้นใหม่แต่ยังคงรูปลักษณ์เดิมที่เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน

ซุ้มเสมารอบพระอุโบสถ ซุ้มเสมารอบพระอุโบสถ ทำเป็นซุ้มทรงกระโจมแบบฝรั่ง คูหาเสมารอบซุ้ม เฉพาะที่บัวกรอบซุ้มทำทรงรูปไข่ หลังคาทำเป็นบัวลดคิ้ว

 
ลายรดน้ำ บานหน้าต่างผนังทิศใต้ตอนบนเป็นรูป พระอาทิตย์ และพระจันทร์ชักรถ 

ตอนล่างเป็นรูปอรุณเทพบุตรทรงมัจฉา รัตน 7ประการ  เครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์  เครื่องมงคล 8 ประการ ฉลองพระองค์ เครื่องประโคม

 ประตูพระอุโบสถ

บานประตูพระอุโบสถ เป็นภาพเขียนประดับมุกลายมงคลของจีน

บานประตูพระอุโบสถ เป็นภาพเขียนประดับมุกลายมงคลของจีน

 
ลายกำมะลอ

ภาพเขียนลงรักปิดทอง ที่ด้านบนของประตูและหน้าต่างทุกบาน

ภาพเขียนลงรักแบบจีน ผสมสีแบบกำมะลอ เป็นรูป ฮก ลก ซิ่ว เต็มยศที่ตอนล่าง ระหว่างช่องประตูทางเข้า ของผนังด้านหน้าพระประธาน ลายกำมะลอ เรื่องสามก๊ก เขียนในกรอบภายในพระอุโบสถ ลายกำมะลอ เรื่องสามก๊ก เขียนบนกระจกอยู่ในกรอบไม้ เหนือกรอบหน้าต่างภายในพระอุโบสถ ภาพเขียนรักแบบจีน ผสมกำมะลอ เรื่องสามก๊ก เขียนบนแผ่นไม้ ฝีมือช่างจีน ใส่กรอบเป็นตอน ๆ จบในตัว เรียงลำดับแบบจีน

 

เจ้าอาวาสวัดนางนองวรวิหาร

  • พระภาวนาโกศลเถระ นามเดิม รอด (พ.ศ. 2397 - 2410)
  • พระวิสุทธิโสภณ นามเดิม โล้ (พ.ศ. 2410 - 2448 )
  • พระสีลาจารพิพัฒน์ (พ.ศ. 2448 - 2457)
  • พระวุฒิญาณมุนี นามเดิม เลื่อน ฉายา ญาณวุฑโฒ ( พ.ศ. 2757 - 2532 )
  • พระเทพสิทธิเวที (พ.ศ. 2532 - ปัจจุบัน)

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น